Secondary

Languages

มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์ COVID-19

มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์ COVID-19

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพของผู้กู้ยืม และเพื่อให้ผู้กู้ยืมสามารถวางแผนการจัดการค่าใช้จ่ายระหว่างเดือนที่ยังคงมีสถานการณ์ไม่ปกติดังกล่าว ขณะนี้ กองทุนได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ ดังนี้

1. ลดอัตราเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5%

ในกรณีที่ผู้กู้ยืมยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด กองทุนจะปรับลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินกู้ยืมเป็นการชั่วคราว จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2563


2. ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน

กองทุนจะปรับลดจำนวนเงินที่แจ้งให้หักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมทุกรายในกลุ่มหน่วยงานเอกชน จากจำนวนเงินที่เคยแจ้งหัก เป็นแจ้งให้นายจ้างหักเงินของผู้กู้ยืมทุกรายๆ ละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 (ระยะเวลา 3 เดือน) 

สำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มปกติ ผู้กู้ยืมยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างเองตามช่องทางที่กองทุนกำหนดให้ครบตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระ มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดนัดชำระเงินคืนกองทุนผู้กู้ยืมเงินต้องชำระเงินเพิ่มอันได้แก่ เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินคืนในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปีของเงินต้นงวดที่ค้างชำระนั้น

สำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี หากเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิหักเดือนละ 10 บาท ยังต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเป็นสำคัญ

  • ผู้กู้ยืมที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ยังต้องชำระส่วนที่เหลือให้ครบในวันที่ 1-5 ของทุกเดือน มิฉะนั้นยังมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามที่ศาลกำหนด และอาจเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี
  • ผู้กู้ยืมที่ศาลพิพากษาให้ชำระหนี้เสร็จสิ้น (ปิดบัญชีทั้งจำนวน) ยังต้องชำระตามที่ศาลสั่ง มิฉะนั้นยังมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามที่ศาลกำหนด และอาจเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี   

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line@กยศ.หักเงินเดือน


3. ลดเบี้ยปรับ 80%  สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว

กรณีผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

กรณีผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดี ลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่ https://www.studentloan.or.th/promotion โดยผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนชำระหนี้ปิดบัญชี โดยขยายระยะเวลาลดเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินคืน) ระยะเวลา 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564

ประกาศกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง มาตรการชั่วคราว : ลดหย่อนหนี้ในส่วนที่เป็นเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้) ในอัตราร้อยละ 80 ของจำนวนเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้


4. ลดเบี้ยปรับ 75% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) 

โดยติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยขยายระยะเวลาลดเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินคืน) ระยะเวลา 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564

ประกาศกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง มาตรการชั่วคราว : ลดหย่อนหนี้ในส่วนที่เป็นเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้) ในอัตราร้อยละ 75 ของจำนวน เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้


5. พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี  

ผู้กู้ยืมที่มีสถานะยังไม่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนยื่นคำขอรับสิทธิได้ที่ https://www.studentloan.or.th/promotion โดยขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 

  • กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี ได้รับสิทธิผ่อนผันการชำระหนี้งวดปี 2563 เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กองทุนอนุมัติ โดยผู้กู้ยืมจะกลับมาชำระหนี้งวดปี 2563 ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และงวดที่เหลือในปีถัดไป
  • กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน ให้ผ่อนผันการชำระหนี้ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ โดยในระหว่างพักชำระหนี้ดังกล่าว กองทุนจะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ กองทุนจะหยุดคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้ทั้งงวดที่ค้างชำระก่อนหน้าและงวดที่อยู่ระหว่างผ่อนผันการชำระหนี้ จนกว่าระยะเวลาพักชำระหนี้จะสิ้นสุด 

ประกาศกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง มาตรการชั่วคราว :พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และยังไม่ถูกกองทุนฟ้องร้องดำเนินคดีให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน


​6. ผ่อนผันการชำระหนี้

ในกรณีสถานการณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้และไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ สามารถยื่นคำขอผ่อนผันและส่งเอกสารหลักฐานไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนครบกำหนดชำระหนี้  ในวันที่ 5 กรกฎาคม  ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกองทุนที่มีอยู่เดิมแล้ว ดังนี้

  • กรณีผู้กู้ยืมที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน สามารถขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 คราวๆละไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย รวมถึงยกเว้นเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับการผ่อนผัน

เป็นผู้ไม่มีรายได้

เป็นผู้มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,008 บาท

ประกาศกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์พิจารณาการผ่อนผันการชำระเงินคืนกองทุน กรณีเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือเป็นผู้มีรายได้ไม่เกินแปดพันแปดบาทต่อเดือน 

  • กรณีผู้กู้ยืมที่มีรายได้ถดถอย สามารถขอผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 1.5 - 2.5 เท่าของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเดิม โดยขึ้นอยู่กับมูลหนี้คงเหลือ ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุ ไม่เกิน 60 ปี และผู้กู้ยืมจะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับกองทุน เพื่อนำยอดหนี้คงเหลือมาคำนวณใหม่และเฉลี่ยให้ชำระในแต่ละเดือนเท่าๆ กันภายในระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน

ผู้ที่มีรายได้ถดถอย

ประกาศกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์พิจารณาความเสียหายของทรัพย์สินอย่างรุนแรงกรณีเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ หรือการเป็นผู้มีรายได้ถดถอย หรือมีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วยหรือพิการ เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินคืนกองทุน  


7. งดการขายทอดตลาด

สำหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด กองทุนจะยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาดทุกรายไปจนถึงสิ้นปี 2563 โดยจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืม และ/หรือ ผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี) ) ส่วนในคดีที่มีการยึดทรัพย์ไว้แล้ว กองทุนฯ จะชะลอการขายทอดตลาดไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กู้ยืมเงิน หรือผู้ค้ำประกัน จะต้องทำบันทึกข้อตกลงไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนกับกองทุนฯ และไปยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ ซึ่งในการงดการขายทอดตลาด เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทุกคนจะต้องให้ความยินยอมให้งดการขายทอดตลาด จึงจะสามารถงดการขายทอดตลาดได้ตามกฎหมายมาตรา 289 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่Line@กยศ.คดีและบังคับคดี 


8. ชะลอการบังคับคดี 

กองทุนฯ ได้มีการชะลอการบังคับคดีกับผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันตามคำพิพากษา เว้นแต่กรณีที่การบังคับคดีใกล้พ้นระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ยังคงต้องดำเนินการบังคับคดีไปตามปกติ ส่วนในคดีที่มีการยึดทรัพย์ไว้แล้ว กองทุนฯ จะชะลอการขายทอดตลาดไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กู้ยืมเงิน หรือผู้ค้ำประกัน จะต้องทำบันทึกข้อตกลงไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีกับกองทุนฯ และไปยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ ซึ่งในการงดการขายทอดตลาด เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทุกคนจะต้องให้ความยินยอมให้งดการขายทอดตลาด จึงจะสามารถงดการขายทอดตลาดได้ตามกฎหมายมาตรา 289 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่Line@กยศ.คดีและบังคับคดี 

 

 

วันที่: 
1 April 2020