Secondary

Languages

กยศ. ชี้แจง ทุกประเด็นกรณีคุณครูถูกทวงหนี้จากการไปค้ำประกันให้ลูกศิษย์ที่ไม่ยอมชำระหนี้คืน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงประเด็นที่มีผู้ถามถึงความเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติหน้าที่ติดตามหนี้สินจากผู้กู้ยืม ภายหลังเกิดกรณีคุณครูถูกทวงหนี้จากการไปค้ำประกันให้ลูกศิษย์ที่ไม่ยอมชำระหนี้คืน โดยบางรายมีอาชีพรับราชการ สาเหตุใดจึงไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ ในขณะที่กระแสสังคมสามารถกดดันให้ลูกหนี้บางรายกลับมาจ่ายหนี้ได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงมีข้อสงสัยว่า กยศ.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยการติดตามทวงหนี้สินจากผู้ค้ำประกันแทน

จากกรณีที่เกิดขึ้นนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนฯ ได้ชี้แจงว่า กยศ.มีมาตรการในการติดตามหนี้สินจากผู้กู้ยืมโดยเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินอื่นๆทั้งของรัฐและเอกชนโดยมีวิธีการ ดังนี้

  1. ส่งหนังสือแจ้งภาระหนี้ครั้งแรกให้ผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกทราบเพื่อไปชำระหนี้
  2. ส่งใบแจ้งหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกรายที่ครบกำหนดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไปเพื่อไปชำระหนี้ หากผู้กู้ยืมผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งกองทุนฯ จะดำเนินการดังนี้
    1. ส่งหนังสือติดตามทวงถามหนี้ค้าง ไปยังผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ค้างชำระ
    2. ส่ง SMS / หรือข้อความเสียง (สำหรับรายที่กองทุนฯมีหมายเลขโทรศัพท์)
    3. ติดตามหนี้ทางโทรศัพท์ เพื่อเจรจาให้ลูกหนี้ชำระหนี้
  3. หากมีการติดตามทวงถามโดยวิธีการต่างๆแล้ว ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ จนมีหนี้ค้างชำระหลายงวด กองทุนฯจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน
  4. กองทุนฯจะดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันเมื่อผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่ไม่ชำระหนี้ โดยยื่นฟ้องผู้กู้ยืมต่อศาลที่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ เมื่อถึงวันนัดพิจารณา หากผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมาศาลกองทุนฯจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความและให้โอกาสในการผ่อนชำระหนี้ต่อไปอีกเป็นเวลา 9 ปี แต่หากผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่มาศาล ศาลจะดำเนินการสืบพยานและมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้
  5. หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว กองทุนฯจะดำเนินการติดตามให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันชำระหนี้ หากผู้กู้และผู้ค้ำประกันขอผ่อนชำระหนี้ กองทุนฯจะพิจารณาให้โอกาสในการผ่อนชำระ แต่หากยังไม่ชำระหนี้กองทุนฯจะดำเนินการบังคับคดี ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
  6. ในการบังคับคดี กองทุนจะขอศาลในการส่งคำบังคับไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยจะสืบหาทรัพย์สินที่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และขอหมายบังคับคดีต่อศาลเพื่อส่งให้กรมบังคับคดีทำการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันเพื่อนำมาขายทอดตลาดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนฯได้ประสานงานกับกรมบังคับคดีในการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ตามคำพิพาษา ที่ถูกยึดทรัพย์ในการผ่อนชำระหนี้ได้อีกภายในระยะไม่เกินสามปีหรือภายในระยะเวลาที่กองทุนฯและลูกหนี้ตกลงกันเพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้และงดการขายทอดตลาดไว้ก่อน เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้นกองทุนฯจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์สินดังกล่าว

กรณีที่มีข่าวว่าลูกหนี้ไม่เคยได้รับการติดต่อจากกองทุนและไม่ทราบว่ามีการฟ้องนั้น กองทุนฯ ขอชี้แจงว่ากองทุนได้ดำเนินการติดต่อไปตามที่อยู่ ตามทะเบียนราษฎร์หรือตามที่ผู้กู้แจ้งความประสงค์ และในส่วนของส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตลอดจนคำพิพากษา คำบังคับ หมายบังคับคดี ศาลโดยเจ้าพนักงานนำหมายจะส่งไปตามภูมิลำเนาของลูกหนี้ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร์ ซึ่งหากไม่พบตัวลูกหนี้หรือไม่มีผู้ใดรับหมายศาลไว้แทน เจ้าพนักงานเดินหมายจะดำเนินการปิดหมายไว้ ณ สถานที่นั้นซึ่งถือเป็นการส่งหมายโดยชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับกรณีที่ข่าวแจ้งว่า มีผู้กู้บางรายเป็นข้าราชการแต่ทำไมจึงไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้นั้น กองทุนขอชี้แจงว่า สำหรับผู้กู้ตามข่าวที่อยู่ระหว่างบังคับคดีและยังมีภาระหนี้สิน กับกองทุนฯนั้น กองทุนฯได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่ถือครองข้อมูลแล้ว ไม่พบว่าบุคคลตามข่าวเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนแต่อย่างใด ส่วนรายที่สามารถดำเนินการบังคับคดีได้นั้น เนื่องจากกองทุนฯได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นอกจากผู้ค้ำประกันที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น กองทุนฯจึงได้ดำเนินการยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน

ปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนฯ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้กองทุนฯมีอำนาจขอข้อมูลต่างๆจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้กองทุนฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเพื่อให้ติดตามหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกองทุนฯมีอำนาจในการแจ้งหักเงินเดือนของผู้กู้ผ่านองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนของข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานแรกแล้ว และจะดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดในลำดับถัดไป โดยในส่วนของภาคเอกชนจะเริ่มดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนในต้นปีหน้าเป็นต้นไปโดย ส่วนผู้กู้ยืมที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับเงินเดือนผ่านนายจ้าง กองทุนฯจะดำเนินการติดตามหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ และติดตามโดยวิธีการอื่นๆในมาตรฐานเดียวกับที่สถาบันการเงินทั่วไป ดำเนินการกับผู้กู้ยืม เพื่อให้ได้เงินกลับคืนสู่กองทุนฯและนำไปใช้หมุนเวียนในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษารุ่นหลังต่อไป

วันที่: 
27 มิถุนายน 2561